วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

.พระที่นั่งวิมานเมฆ.


.พระที่นั่งวิมานเมฆ.





พระที่นั่งวิมานเมฆ (ภาษาอังกฤษ - Vimanmek Mansion) 

เป็นพระที่นั่งในพระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร


ประวัติ
พระที่นั่งวิมานเมฆเป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นพระที่นั่งถาวรองค์แรกในพระราชวังดุสิต

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพระราชวังดุสิต (ซึ่งในรัชสมัยของพระองค์เรียกว่า พระราชวังสวนดุสิต) ใน พ.ศ. 2444 โดยโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่เกาะสีชังเมื่อ พ.ศ. 2435 แต่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโยธาเทพ (กร หงสกุล ต่อมาเป็นพระยาราชสงคราม) เป็นนายงานรื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์จากเกาะสีชังมาสร้างในสวนดุสิต และพระราชทานนามว่า "พระที่นั่งวิมานเมฆ" และทรงวางศิลาฤกษ์พระที่นั่งเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2443 

โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกำกับการออกแบบ และ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2445


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

พระที่นั่งวิมานเมฆสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง มีลักษณทางสถาปัตยกรรมที่งดงามประณีตและได้รับอิทธิพลการก่อสร้างแบบตะวันตก การก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2444 และได้เสด็จมาประทับที่พระที่นั่งวิมานเมฆ จนกระทั่งพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2445 สร้างเสร็จเรียบร้อยใน พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถานเป็นการถาวร จนกระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 และพระที่นั่งวิมานเมฆยังคงเป็นสถานที่ประทับของเจ้านายจนกระทั่งสิ้นรัชกาล เจ้านายฝ่ายในและข้าราชบริพารจึงได้กลับมาประทับที่พระบรมมหาราชวัง




ฐานรากของ
พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ บนเกาะสีชัง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาประทับที่พระที่นั่งวิมานเมฆใน พ.ศ. 2468 แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชายา ก็ทรงย้ายออกจากพระที่นั่งวิมานเมฆ และจากนั้นมา พระที่นั่งวิมานเมฆก็มิได้เป็นพระราชฐานที่ประทับของเจ้านายอีก

ในรัชสมัยพระบาท สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 แม้ว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการบูรณะซ่อมแซมพระที่นั่งวิมานเมฆหลาย ครั้ง เช่น การซ่อมเปลี่ยนสายไฟฟ้าภายในองค์พระที่นั่ง การซ่อมเสามุขศาลาท่าน้ำเป็นต้น แต่ในที่สุดตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2475 เป็นต้นมา พระที่นั่งวิมานเมฆก็ใช้เป็นเพียงสถานที่เก็บราชพัสดุของสำนักพระราชวังตลอด มาถึง 50 ปี


ในรัชกาลปัจจุบัน พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นปีที่ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงขอพระบรมราชานุญาตซ่อมพระที่นั่งวิมานเมฆ เพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันพระที่นั่งวิมานเมฆเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ในความดูแลของสำนักพระราชวัง รวมทั้งหมู่พระตำหนักของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในด้วย


ลักษณะขององค์พระที่นั่ง
พระที่นั่งองค์นี้ เป็นอาคารแบบวิกตอเรีย ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุโรป ผสมกับไทยประยุกต์ องค์พระที่นั่งเป็นรูปอักษรตัวแอล (L) ในภาษาอังกฤษ ยาวด้านละ 60 เมตร สูง 20 เมตร เป็นอาคาร 3 ชั้น ยกเว้นตรงส่วนที่ประทับซึ่งมีรูปร่างเป็นแปดเหลี่ยม มี 4 ชั้น ชั้นล่างสุดก่ออิฐ ถือปูน ชั้นถัดขึ้นไปสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหมดทาด้วยสีครีมอ่อนหลังคาสีแดง และหลังคาเป็นทรงไทยประยุกต์ มีลวดลายตามหน้าต่าง และช่องลมซึ่งฉลุเป็นลายที่เรียกว่าขนมปังขิง

เรือนขนมปังขิง เป็นชื่อเรียกอาคารประเภทหนึ่ง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ซึ่งแพร่เข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการประดับตกแต่ลวดลายฉลุที่วิจิตรพิสดาร หรูหรา สวยงามเหมือนขนมปังขิง
คำว่า ขนมปังขิง มาจากภาษาอังกฤษว่า "Gingerbread" ซึ่งเป็นขนมปังขิงของชาวยุโรป ซึ่งตกแต่งลวดลายสวยงาม มีลักษณะหงิกงอเป็นแง่งคล้ายขิง จึงใช้เป็นคำเรียกลวดลายทางสถาปัตยกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ในสมัยพระนางเจ้าวิกตอเรียที่ 2 แห่งอังกฤษ ในเมืองไทย มีบ้านโบราณหลายแห่งที่ตกแต่งด้วยลายขนมปังขิง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเคยเป็นแหล่งสถาปัตยกรรมอันหลากหลาย ก็มีบ้านขนมปังขิง ใกล้กับเสาชิงช้า เยื้องๆ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร มีบ้านหลังหนึ่ง สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบดังกล่าว และเขียนชื่อเอาไว้ว่า บ้านขนมปังขิง ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานเอาไว้

บ้านวงศ์บุรี จังหวัดแพร่ ตัวอย่างเรือนขนมปังขิงในไทย

สำหรับพระที่นั่งวิมานเมฆนี้จะแบ่งเป็นห้องชุดต่างๆ 5 สีด้วยกัน คือสีฟ้า เขียว ชมพู งาช้าง และสีลูกพีช (ชมพูอมส้ม)



- สีฟ้า ที่อยู่ในฝ่ายในอยู่ในพระราชอำนาจสมเด็จพระนางเจ้าสาวภาผ่องศรี หรือพระพันปีหลวง






- สีเขียว ถ้าเป็นฝ่ายหน้าจะเป็นห้องรอเฝ้าของขุนนาง ส่วนถ้าเป็นฝ่ายในจะมีผู้รับผิดชอบดูแลเป็นเจ้าจอมจากสกุลเดียวกันทั้งหมด มีห้าท่านด้วยกัน แล้วด้วยที่ท่านชื่อขึ้นต้นด้วยตัว อ ทั้งหมดจึงนิยมเรียกกันง่ายๆ ว่าเจ้าจอมก๊กออ ได้แก่ เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ เจ้าจอมเอื้อน



- สีงาช้าง อยู่ในพระราชอำนาจของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลย์มารศรีซึ่งอยู่ในมุขแปดเหลี่ยม

- สีลูกพีช จัดเป็นห้องชุดเพราะประกอบด้วยห้องพระบรรทม ห้องพระอักษร ห้องแต่งพระองค์และห้องน้ำซึ่งเป็นห้องที่ทันสมัยมากทุกอย่างถูกจัดให้ใกล้เคียงกับครั้งอดีตทั้งหมด



- สีชมพู อันเป็นหมู่สีสุดท้าย จัดแสดงเป็นห้องแบบไทย ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายห้องชุด แต่เป็นห้องเดียว เพียงแต่การจัดห้องออกเป็นมุมต่างๆ มีทั้งส่วนห้องนอน ห้องแต่งตัว ห้องนั่งเล่น และห้องอาหารอยู่ในการดูแลของ พระวิมาดาเธอ


ทุกหมู่สีจะมีบันไดเป็นของตัวเอง เรียกว่าขึ้นลงเข้าออกได้ไม่ปะปนกันเลยมีทั้งหมดตั้ง 19 บันได

มีห้องจัดแสดงรวมทั้งสิ้น 31 ห้อง การจัดแสดงบางห้องยังคงลักษณะบรรยากาศในอดีตไว้ เช่น หมู่ห้องพระบรรทม ท้องพระโรงและห้องสรง เป็นต้น แต่ละห้องจะจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 5 รวมถึงเจ้านายชั้นสูง เช่น ห้องสีเขียว เป็นห้องเครื่องเงินจากประเทศจีน ส่วนชั้นสองเป็นห้องทรงงานของรัชกาลที่ 5 และห้องบนชั้นสามจะเป็นห้องบรรทม แต่ห้องที่งดงามที่สุดในพระที่นั่งวิมานเมฆเห็นจะเป็นห้องท้องพระโรง ที่มีบรรยากาศขรึมขลังอลังการมากที่สุด บางห้องจัดแสดงศิลปวัตถุแยกตามประเภทเช่น ห้องจัดแสดงเครื่องเงิน ห้องจัดแสดงเครื่องกระเบื้องลายคราม ห้องจัดแสดงเครื่องแก้วเจียระไน และห้องจัดแสดงเครื่องงา เป็นต้น นอกจากพระที่นั่งวิมานเมฆภายในบริเวณสวนดุสิตหรือวังสวนดุสิตนี้ (ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามใหม่ว่า “พระราชวังดุสิต” และเรียกขานนามนี้มาจนถึงปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน ที่ดินสำหรับสร้างพระตำหนัก และตำหนักที่ประทับของพระมเหสีพระเจ้าลูกเธอและเจ้าจอมมารดาเป็นส่วน ๆ และพระราชทานชื่อสวน คลอง ประตู และถนนต่าง ๆ ตามชื่อเครื่องลายครามของจีน ที่เรียกกันว่า “เครื่องกิมตึ๋ง” ซึ่งนิยมสะสมกันในสมัยนั้น ปัจจุบันหมู่พระตำหนักของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในดังกล่าว ได้เปิดจัดแสดงพร้อมด้วยโรงรถม้าพระที่นั่งให้ประชาชนได้เข้าชมด้วยเช่นกัน




1 ความคิดเห็น: